เปลี่ยนภาษา : Thai Language English language

13/05/2020

เกิดจากการที่เรามีระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดสูงเพราะการทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพของฮอร์โมนอินซูลินหรือเกิดจากการขาดหรือพร่องอินซูลิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ อันจะนำไปสู่การแบ่งชนิดของโรคเบาหวานได้ดังนี้

1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes) มักเกิดจากภาวะ autoimmune ทำให้มีการทำลายเบตาเซลล์ของตับอ่อนเกิดขึ้น (เซลล์ชนิดนี้สร้างฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด) มักพบในคนอายุน้อย
2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes) มักเกิดจากการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเบาหวานชนิดนี้พบได้มากกว่าชนิดอื่นๆ เพราะการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมของคนในยุคปัจจุบันที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น เช่น การเกิดภาวะโรคอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุง หรือการที่ไม่ออกกำลังกาย/ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นและอาจนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในที่สุด
3. เบาหวานจากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus) เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์ สาเหตุจากฮอร์โมนที่ผลิตจากรกหรือการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของมารดาเองขณะตั้งครรภ์ ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองหลังคลอด แต่ในบางรายอาจพัฒนาต่อไปเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
4. เบาหวานชนิดอื่นๆ (Specific types of diabetes due to other causes) เป็นกลุ่มอาการเบาหวานที่เป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติอื่น เช่น เบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) เบาหวานจากโรคต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น Cushing’s syndrome ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (thyrotoxicosis) เบาหวานจากยาหรือสารพิษ เบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ
เบตาเซลล์ เช่น MODY3 หรือเบาหวานที่เกิดจากการติดเชื้อ เป็นต้น

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน
อาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมากกว่าปกติ, กระหายน้ำบ่อย, หิวบ่อย รับประทานอาหารจุ, น้ำหนักตัวลด, อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, หอบหายใจลึก, ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ (มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1) หากมีอาการเหล่านี้แล้วตรวจค่าน้ำตาลในกระแสเลือด (เวลาใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร) ได้ตั้งแต่ 200 mg/dl ขึ้นไป นั่นคือเป็นเบาหวาน
หรือใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่นิยมตรวจคือหาระดับน้ำตาลกลูโคสในการแสเลือด (ต้องงดอาหาร 8-10 ชั่วโมง) หรือการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือดก็มีการรับรองเพื่อใช้วินิจฉัยเบาหวานได้แล้วเช่นกัน (ไม่ต้องงดอาหาร) หรือการตรวจ OGTT (วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยม)

การเป็นโรคเบาหวานนั้นอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย เช่น จอประสาทตาเสื่อ, เส้นเลือดที่ไตเสื่อม, ต้อกระจก, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเส้นเลือดสมองอุดตัน, โรคเส้นเลือดส่วนปลายอุดตัน, เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ, ความดันโลหิตสูง หรือการติดเชื้อที่ทำให้ต้องตัดขา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนไม่ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อด้านร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้นแล้วเราจึงควรหันมาตรวจเช็คสุขภาพและเริ่มดูแลรักษาร่างกายของเรา เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานต่อไป


Bangkok Medical Lab

@bangkok.lab

contact@bangkoklab.com